หลักรัก ตอนที่ ๗ - พระอาจารย์ชยสาโร


หลักรัก ตอนที่ ๗ – ชยสาโรภิกขุ

กิเลสที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรักมีมาก โดยมี ตัณหา ความอยากได้ อยากมีอยากเป็น อยากไม่ให้ มีไม่ให้เป็น เล่นบทหัวโจก กิเลสเกิดเพราะรักบ้าง ทั้งๆ ที่รักบ้าง และเกิดเมื่อไรความทุกข์ก็เกิดเมื่อนั้น เพราะกิเลสมักหลอกเราว่าไม่ใช่สิ่งเศร้าหมองเลย

หรือถ้าชัดเจนว่าไม่ดี ปฏิเสธไม่ได้ ก็หลอกว่าเป็น เรื่องธรรมดาต้องยอมรับ กิเลสจึงเป็นของหนักหน่วง แต่เมื่อเราตระหนักชัดในความอันตรายของมันแล้ว จะสำนึกว่านอกจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่มีทาง แก้ไขได้ไม่มีทางเลือก ต้องคุมกรรมมืดให้ได้

การปฏิบัติที่ถูกต้องจึงมุ่งจะได้ลืมหูลืมตาต่อ ธรรมชาติของกาย วาจา ใจ ให้เห็นว่ามีอะไรบ้างที่ ทำให้ชีวิตเรามีมลทิน แล้วพัฒนาศีล สมาธิ และ ปัญญา พร้อมๆ กัน เพื่อหลุดพ้นจากปัญหาทั้งปวง

ความรักแบบโรแมนติก คงประกอบไปด้วย ความอยากได้ในทางเพศเป็นธรรมดา ความอยาก หรือความต้องการนี้เรียกว่าเป็นกิเลส เพราะเป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาความสงบและปัญญา แต่ในเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ ฆราวาสผู้ยังต้องการ เอากิเลสนี้ไว้ก่อน ควรควบคุมมันให้ดี ไม่หลงใหลไม่ ตกเป็นทาสของมัน ไม่ให้กามเป็นศูนย์กลางของชีวิตคู่

เพราะกามมีจุดเบื่อ และเมื่อจุดเบื่อของทั้ง สองคนไม่ตรงกัน กามเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะ วิวาท ความขัดข้องใจ ความน้อยใจ ความเคืองใจได้ง่าย ยิ่งกว่านั้นความมักมากในกามอาจนำไปสู่การนอกใจได้ ซึ่งบ่อนทำลายความสงบ และความไว้ วางใจในบ้าน อาจทำให้คู่ที่เคยรักกันมากไม่อยากเห็นหน้ากันอีกเลย และหย่ากันในที่สุด

สำหรับคู่ที่มีลูกแล้ว ผลกระทบของการผิดศีลข้อสามก็หนักยิ่งขึ้น อาจจะมีผลร้ายต่อความสุขและสุขภาพจิตของลูกในระยะยาว

กิเลสก็มีเหตุผลของมันเหมือนกัน ผู้ผิดศีลข้อ ที่สามมักจะมีข้ออ้างอยู่เสมอ ผู้ชายชอบอ้างธรรมชาติของความต้องการทางเพศ ผู้หญิงชอบอ้าง ความรัก ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง อยากจะให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ฉันทำ ความต้องการของร่างกายพาทำ หรือความรักพาทำ

จริงอยู่ปุถุชนธรรมดาต้องเผชิญหน้ากับความยั่วยุจาก ร่างกายหรืออารมณ์เป็นประจำ แต่จะถึงขั้นละเมิด ศีลจริงๆ ขอพูดตรงๆ ว่าเป็นเพราะอยากละเมิด ไม่ใช่อย่างอื่น ถ้าคนเรารักษาศีลเฉพาะเวลาที่ไม่มี กิเลส ศีลก็คงไม่ใช่ศีล เพราะศีล เจตนางดเว้น มีหน้าที่เป็นรั้วกันบาปกรรม การฝึกความอดทน ความยับยั้งชั่งใจโดยมีศีลเป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นทางสู่การเลี่ยงกรรมชั่วและความปลอดภัย

การแต่งงานน่าจะหมายถึงว่าเราสัญญากับ สามีหรือภรรยาว่าจะไม่หากามสุขนอกบ้าน คือยอม เสียสละความสุขในทางนี้บ้าง เพื่อความถูกต้องต่อ คู่ครอง และเพื่อเสวยความสุขในการเป็นผู้ตรง ไม่ หลอกลวง ไม่ทรยศ

เพื่อความภูมิใจและความเคารพนับถือตัวเองว่าเป็นผู้ทรงศีล และศีลนี้แหละที่เป็น ฐานของการเข้าถึงความสุขของสมาธิ ซึ่งเลิศกว่า กามสุขอย่างเทียบไม่ได้เลย

เมื่อแต่งงานแล้ว จะอยู่ในโลกโดยไม่เกิดความรู้สึกว่าชอบใคร หรือไม่รู้สึกในเสน่ห์ดึงดูดของใคร เลยคงเป็นไปได้ยาก เราห้ามความรู้สึกชั่วแวบไม่ได้หรอก แต่สิงที่เราห้ามได้คือ กาย วาจา ไม่ทำ หรือพูดสิ่งใดที่จะเติมเชื้อของความรู้สึกนั้น เช่น พูดคุยสองต่อสอง คุยทางโทรศัพท์ อีเมล์ ฯลฯ ไม่ส่งเสริมให้คนที่เราชอบคนนั้นคิดผิดหรือทำผิด

และ ที่สำคัญยิ่งคือ ไม่ยินดีในความรู้สึกนั้น ไม่คิดปรุงแต่งด้วยอำนาจของความยินดี ผู้มีความละอาย ต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป มีสัจจะ มีความอดทน ย่อมมองว่ากามเป็นไฟเผาลนใจ ผู้รักความถูกต้อง ย่อมชนะใจได้ พอความรู้สึกนั้นหายไปแล้ว ก็ได้ปัญญาว่า เป็นของแค่นั่นแหละ

เรื่องกิเลสก็ค่อนข้างจะสลับซับช้อน เช่น ผู้ชายอายุ ๔๐ กว่าปีขึ้นไปจำนวนมากเกิดอยากได้เมียน้อย ไม่ใช่เรื่องของกามอย่างเดียว แต่มักจะเป็น ปฏิกิริยาต่อความกลัวตาย

อายุวัยกลางคนแล้ว เมื่อความเสื่อมของร่างกายเริ่มปรากฏ ความสำนึกว่า ความแก่และความตายเป็นเรื่องของเราจริง ๆ ถ้า หากว่าไม่เคยดูจิตใจตัวเองก็เก็บกดไม่รู้ตัว แต่อาจ จะเริ่มสู้กับความกลัวตายลึกๆ นี้ด้วยกาม โดยถือ หลักไสยศาสตร์ว่าเพศสัมพันธ์เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าไม่ ตายง่าย

ความสัมพันธ์ระหว่างการหมกมุ่นในกาม และความกลัวตายนี้เห็นได้ชัดที่สุดในยามสงคราม กามอาจจะปลอบใจ หรือกลบเกลื่อน ช่วยลืม ความจริงของชีวิตบางประการได้ชั่วคราว แต่ผลร้าย คือมันทำให้จิตใจอ่อนแอ ไม่มีกำลัง เกิดความเคยชินในการหาทางออกจากปัญหาทางใจที่ง่าย ที่สุดและเร็วที่สุด ปัญญาจะค่อยๆ ฝ่อลีบไป

สุดท้าย จะอยู่ในสภาพที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบใน ธรรมบทว่า นั่งซบเซา เหมือนนกกระเรียนแก่ จับเจ่าอยู่ริม สระที่ไร้ปลา

การเรียนรู้อารมณ์ การรู้จักบริหารอารมณ์ เป็นเครื่องรับประกันความปลอดภัยจากกิเลสที่เชื่อ ถือได้ที่สุด การผิดศีลข้อที่สามเกิดจากเหตุปัจจัย ต่าง ๆ เราจึงควรแกรู้เท่าทันความมักมากในกาม ความต้องการสิ่งแปลกใหม่เพื่อแก้ความรู้สึกจืดชืด ความตื่นเต้นในการรักษาความลับ ความอยากเป็น คนพิเศษของอีกคนหนึ่ง ความสุขในการทำสิ่งที่รู้ว่า ผิด รู้แล้วปล่อยวาง ยังปล่อยวางไม่เป็น รู้แล้วต้อง อดทน สำรวม ยับยั้งชั่งใจ

จบหลักรักตอนที่ ๗

ภาพกลุ่มจิตอาสา โรงเรียนทอสี โดยคุณ Montian Amonlirdviman

หลักรัก ตอนที่ ๗

ที่มา