หลักรักตอนที่ ๑๐ - พระอาจารย์ชยสาโร


หลักรักตอนที่ ๑๐ – ชยสาโรภิกขุ

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแบบขู่ด้วยนรกหรือล่อ ด้วยสวรรค์ พระองค์สอนแบบ เอหิปัสสิโก คือตรัสว่า

เราตถาคตผู้เป็นโลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก เห็นชัดว่าชีวิต เป็นอย่างนี้ๆ เชิญมาดู มาวิเคราะห์ มาพิจารณา ไตร่ตรองว่า ใช่หรือไม่ อาตมาเป็นคนหนึ่งที่ชอบรูปแบบนี้มากตั้งแต่เจอครั้งแรก ชื่นใจว่าโลกนี้มีศาสนาที่ไม่ถือว่าความสงสัยในคำสอนเป็นบาป หรือ เป็นการสบประมาทพระศาสดา เรียนศาสนาไม่ต้องฉีดสติปัญญาด้วยยาสลบเสียก่อนก็ดีใจ

เรื่องความรักก็เหมือนกัน พระพุทธองค์ต้องการให้เราเรียนรู้ให้ดีว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะส่วนประกอบของโลกทุกประการพร้อมที่จะก่อให้เกิดทุกข์สำหรับผู้ขาดปัญญา พร้อมที่จะนำไปสู่ความสุขสำหรับผู้มีปัญญา เท่าที่เห็นมา ปัญหาฆราวาสที่เกิดเพราะ ขาดความรักน้อยกว่าที่เกิดเพราะขาดการเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ความรักและความเป็นเพื่อนที่ดีไม่ได้อยู่ด้วยกันเสมอไป จะเป็นเพื่อนที่ดีของคนที่เรารัก เราต้องแก้ตัวเองให้มีคุณธรรม เจริญด้วย ทาน ศีล ภาวนา เท่าที่จะทำได้ ต้องพยายามเข้าใจเราและเข้าใจเขา และพยายามช่วยให้เขาเข้าใจตัวเขา และเข้าใจเรา

การสื่อสารที่ดีเป็นสิ่งที่ควรหมั่นศึกษา ขอย้ำอีกทีว่ามันไม่ได้มาเองพร้อมกับความรัก เหมือนซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ใหม่ มันเป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้ ไม่ใช่ว่ามีปากมีหูก็สื่อสารกันได้ ถ้าคิดไม่ตรงกันแล้วสามีภรรยาแยกเป็นคนละฝ่าย เป็นคู่ปรปักษ์กัน สู้เพื่อความชนะก็ผิดหลักแล้ว ที่ถูกคือมองว่าเราเป็นฝ่ายเดียวกัน เป็นทีมซึ่งมีปัญหาที่ต้องช่วยกันแกไข ต้องฟังเขาดีๆ พูดจาดีๆ มันจึงจะประสบผลสำเร็จ

เมื่อทั้งสองคนดำเนินชีวิตโดยมีพุทธธรรมเป็นที่พึ่ง พยายามเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน ก็มีโอกาสรับความสดชื่นในชีวิตครอบครัวได้ตลอดชีวิต การเติบโตในธรรมด้วยกัน ทำให้ความผูกพันซึมซับ หลักธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมน้อยลงๆ โดยลำดับ

ฆราวาสที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน มีความไว้ วางใจซึ่งกันและกัน สามารถให้กำลังใจในยามเบื่อ หน่ายและท้อแท้ เป็นผู้ฟังเป็น พูดเป็น เป็นที่ปรึกษาที่ใจเย็นและรอบคอบ เป็นผู้เข้าใจ เป็นผู้ให้ อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยการยอมรับในการเป็น ปุถุชนของซึ่งกันและกัน ไม่มีความคิดในการชนะ หรือเอาเปรียบเลย แต่กล้าชี้ขุมทรัพย์ด้วยความเคารพ ความหวังดี และถูกกาลเทศะ ในขณะเดียวกัน พร้อมที่จะรับฟังข้อคิด ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อตักเตือนจากอีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ

ขอสรุปอีกทีว่า ความรักเป็นส่วนหนึ่งของโลก มันมีทั้งส่วนสว่าง ส่วนมืด และส่วนสีเทาๆ

พุทธธรรมสอนให้เราศึกษาความรัก เพื่อหาทางให้ ส่วนมืดและส่วนสีเทาให้น้อยที่สุด ส่วนสว่างให้มากที่สุด คนเราเกิดมามีอวิชชา ความไม่รู้ และความรู้ผิด พร้อมด้วยตัณหา ความทะเยอทะยานอยากเป็น เดิมพัน ความรักเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิตที่พัวพัน กับอวิชชาและตัณหา ความรักบางประการเกิดจาก อวิชชาหรือตัณหาโดยตรง เหมือนยาพิษ บาง ประการถูกอวิชชาและตัณหาเข้าไปครอบงำ แต่ถอน ได้เหมือนก้างปลาติดคอ ความรักบางประการมี อวิชชาตัณหาน้อย และเราเอาไปใช้เป็นกำลังในการ สร้างชีวิตที่ดีงามได้ การปณิธานความ เป็นกัลยาณมิตรต่อกันเป็นอุดมคติชีวิต เป็นส่วนสำคัญ ของการพัฒนาดังกล่าว นอกจากนั้นเราต้องศึกษาธรรมชาติของความรัก คือเมตตา เพื่อให้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเรา

ในการปฏิบัติธรรม ปัญญามีหน้าที่แก้อวิชชา โดยตรง ด้วยการหมั่นพิจารณาความจริงของชีวิต และโลกด้วยจิตใจที่มั่นคงสุขุมและเป็นกลางอยู่ใน ปัจจุบัน การพัฒนากุศลธรรมต่างๆ พร้อมก้นอย่าง เป็นระบบองค์รวม คือวิธีแก้ตัณหาโดยตรง ในกรณี ของความรัก คุณธรรมที่เด่นที่สุดในการเอาชนะตัณหา คือเมตตา และความพยายาม เป็นเพื่อนที่ดี (กัลยาณมิตร) อาตมาได้กล่าวถึง กิเลสที่อาจจะแทรกแซงความรักได้บ้างแล้ว การแก้ ห้ามใจ รู้เท่าทันอารมณ์ ปล่อยวาง เป็นหัวใจของการปฏิบัติทางลบ แต่ในขณะเดียวก้นเราต้องมีอุดมการณ์ในทางบวกด้วย อุดมการณ์นั้นคือความ รักอันบริสุทธิ์ที่ชื่อว่า เมตตา

เอกลักษณ์ของความรักที่บริสุทธิ์ คือ

๑. ไม่มีเงื่อนไข

๒. ไม่มีขอบเขต เป็นความหวังดีต่อสัตว์ ทั้งหลายทั้งปวง

๓. ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

๔. มีปัญญาและอุเบกขาคอยกำกับ

การที่ความรักประเภทนี้มีจริง และการที่ มนุษย์เราทุกคนสามารถพัฒนาความรักนี้ได้เป็น เรื่องน่าอัศจรรย์ เมื่อดูข่าวเห็นความโหดเหี้ยม ความไม่เอาไหนของเพื่อนร่วมโลก การระลึกถึงศักยภาพของมนุษย์ข้อนี้สามารถละลายความกลุ้มใจและความสิ้นหวังได้ มนุษย์แย่อย่างนี้ก็จริง แต่ดี

แนวทางปฏิบัติต่อความรักจึงอยู่ที่การน้อมนำไปในทางเมตตาให้มากที่สุดที่เราทำได้ คือ

๑. ให้ความรักของเรามีเงื่อนไขน้อยลง

๒. มีขอบเขตน้อยลง ลำเอียงน้อยลง

๓. เป็นเหตุให้เกิดทุกข์น้อยลง

๔. มีปัญญาและอุเบกขาคอยกำกับมากขึ้น

หลักรักตอนที่ ๑๐

ที่มา