หลักรัก ตอนที่ ๒ - พระอาจารย์ชยสาโร


ธรรมชาติของความรักสามัญคือมีขีดจำกัด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโลก มันย่อมมีความพร่องอยู่เป็นนิจ นั้นคือข่าวร้าย

แต่ข่าวดีคือยังมีความรักอีกประเภท คือ เมตตาซึ่งเลิศประเสริฐ เป็น ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข สม่ำเสมอในสิ่งชีวิตทั้งหลายอย่างไม่ลำเอียง เป็นความรักที่บริสุทธิ์แท้ เมื่อความผูกพันไม่มีขอบเขตจึงไม่เป็นเหตุให้ เกิดทุกข์ ตรงกันข้าม เมตตานำแต่ความสุขมาให้อย่างน่าพอใจยิ่ง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของทางพ้นจากทุกข์ในโลก

พุทธธรรมสอนให้เห็นว่า ความรักสามัญมีข้อด้อยสองข้อสำคัญ คือ

หนึ่ง ธรรมชาติของทั้งผู้รัก ที่รัก และความรัก คือความไม่เที่ยง ความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย เป็นเหตุให้โลกไม่มีอะไรคงที่ เป็นที่พึ่งแท้จริงได้

สอง ในเมื่อผู้รักยังเป็นปุถุชนอยู่ กิเลสต่างๆ ในใจย่อมท้าให้ความรักเป็นปัญหาและมีปัญหาได้อยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติโดยตัวของมันล้วนๆ ก็ทนยากอยู่แล้ว เรายังซ้ำเติมตัวเองด้วยความเข้าใจผิดและความอยาก

ผู้มีสัมมาทิฐิในทางพระพุทธศาสนาจึงฝึกมอง เรื่องความรักผ่านอริยสัจสี่ คือ กำหนดรู้ความพร่อง ของมัน ให้คุณค่าและความหมายของความรักให้พอดี พยายามละสิ่งเศร้าหมองทั้งหลายในใจที่ก่อให้ เกิดความทุกข์ทั้งๆ ที่รัก

ตั้งเป้าหมายอยู่ที่การไม่เป็นทุกข์หรือเป็นทุกข์น้อยที่สุดเพราะความรัก พร้อมกับมีและให้ความสุขมากที่สุด

สุดท้าย ฝึกอบรมกาย วาจา ใจ ตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ โดยเฉพาะในกรณีความรัก ด้วยการพยายามให้มันน้อมไปทางเมตตาให้มากที่สุด ตระหนักในความงดงามของความรักที่ปราศจาก เงื่อนไขเป็นกำลังใจ

ผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เห็นประโยชน์ในการศึกษาด้งกล่าว อาจต่อต้านว่า ไปยุ่งกับความรักทำไม มันดีอยู่แล้ว ขอตอบด้วยคำถามว่า มันดีจริงหรือ และถ้ามันดีแล้วมันจะดีอีกนานเท่าไร รู้ได้อย่างไร

พระองค์ทรงชี้ให้เราเห็นว่าสิ่งใดเป็นของจริง สิ่งนั้นย่อมทนต่อการพิสูจน์ สิ่งที่ไม่จริงเท่านั้นที่ไม่ทนต่อการพิสูจน์ เราจะปล่อยวางสิ่งแปลกปลอม เข้าถึงของแท้ ต้องดูใจตัวเองเป็น

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมจงพยายามทำความเข้าใจในเรื่องความรัก เมื่อศึกษาความรักด้วยจิตเป็นกลาง ความรู้สึกผูกพันที่เกิดจากความหลงจะค่อยๆ ดับไป พร้อมกับสิ่งเศร้าหมองต่างๆ ที่จรเข้ามาในใจรวมเป็นกระจุกกับความรัก เราจะเริ่มชื่นชมรสชาติของความรักปลอดสารพิษ

ในที่สุด ในใจของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะมีเหลือแต่ความรัก ที่ใสสะอาด และไร้เงื่อนไข ที่ล้นออกมาจากจิตใจที่เบิกบาน

ความรักระหว่างบุคคลที่เรารู้จักตั้งแต่แรกเกิด คือความรักของแม่และพ่อนั้นเอง อายุมากขึ้น เรามักจะประมาทในความรักนี้ ทั้งนี้ เพราะเรามักรู้สึก ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลก เหมือนดินน้ำลมไฟ เราจึงรู้สึกคล้ายๆ กับว่า ความรักของพ่อแม่เป็นสิทธิของเราที่จะได้รับ ข้อดีของสังคมไทยข้อหนึ่งจึงอยู่ที่การ เน้นย้ำเรื่องความกตัญญู ช่วยให้คนเราที่ชอบมองข้ามหรือลืมสิ่งสำคัญได้สำนึกใน หนี้ศักดิ์สิทธิ์ และ รู้จักความสุขในการตอบแทนบุญคุณของบุพการี ในที่สุดเมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องจากเราไป ความเศร้าโศกไม่ต้องแฝงไปด้วยความเดือดร้อนใจว่าเราเป็นลูกที่ไม่ดี สัญญาความจำจะเต็มไปด้วยความภูมิใจ ว่าได้ทำหน้าที่ต่อผู้มีพระคุณ

คงไม่มีผู้ปกครองที่ไหนที่จะยืนยันได้ว่าความรักลูกนำแต่ความสุขมาให้ถ่ายเดียว หากถือว่าความทุกข์ที่ตามมาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะเทียบกับ ความสุขที่ได้จากการมีลูกรู้สึกว่าคุ้ม ถ้าลูกเป็นทุกข์เมื่อไร จะเป็นทุกข์กายเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือ ทุกข์ใจเพราะผิดหวัง ไม่ได้สิ่งที่อยากได้ เป็นต้น

พ่อ แม่ ผู้รักลูก มักจะเป็นทุกข์ยิ่งกว่าลูกเสียอีก ทนทุกข์ตัวเองได้ แต่ทนทุกข์ของลูกแทบไม่ไหว ในการเลี้ยงลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่ยอมเสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมลำบากทั้งกายและใจ อย่างต่อเนื่องหลายปี เพื่อจะให้ลูกได้ดี เก่ง มีความสุข

ความรักพ่อแม่ และรักลูก เป็นความผูกพัน โดยธรรมชาติที่มีทุกข์เป็นเงาตามตัว เป็นทุกข์ที่เรา ไม่ปฏิเสธ แต่ในขณะเดียวกัน เราควรสนใจศึกษา ว่ามีทุกข์อะไรบ้างไหม ที่เราปล่อยวางได้โดยไม่กระทบต่อการเป็นลูกหรือพ่อแม่ที่ดี

จบหลักรัก ตอนที่ ๒

หลักรัก ตอนที่ ๒

ที่มา