หลักรัก ตอนที่ ๑ - พระอาจารย์ชยสาโร
หลักรัก – ชยสาโรภิกขุ
ต้นเรื่องเดิมมาจากพระธรรมเทศนา ของพระอาจารย์ชยสาโร เรื่อง “จากรักสู่เมตตา” ซึ่งพระอาจารย์ได้นำเนื้อหาสาระที่สำคัญของเรื่อง ดังกล่าวมาเขียนขึ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งใหม่ทั้งหมด และได้ตั้งชื่อเรื่องให้ใหม่ด้วยว่า “หลักรัก”
ทางเพจ สาขาวัดหนองป่าพง เคยนำเสนอไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้ขอนำมาลงใหม่พร้อมเพิ่มเติมภาคภาษาอังกฤษด้วยครับ
ความรักเป็นอีกส่วนหนึ่งของ ชีวิตที่เราต้องฉลาด และรู้เท่าทัน
ความรักมักจะคลุกเคล้าอยู่กับอารมณ์อื่นอยู่เสมอ ทำให้ผู้ที่ไม่เคยมองด้านในอย่างจริงจังหลงเข้าใจว่าอารมณ์ที่เป็นบริวารของความรักนั้น เป็น ส่วนหนึ่งหรืออาการของความรักทีเดียว
เช่น คนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า ความวิตกกังวล และความหึงหวงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารักจริง จึงยินดีสงวนเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ความรักมักมีมลทินโดยผู้รักไม่ค่อยรู้ตัว และที่น่ากลัวคือกิเลสที่อาจบ่อนทำลายความรัก สามารถสอดแทรกเข้ามาในใจที่ขาดธรรมะได้อย่างง่ายดาย ปุถุชนธรรมดาเหมือนเจ้าของบ้านที่ไม่มีประตู มีแต่ช่องว่าง ใครจะเข้าจะออกก็ได้ตามสบาย ขี้ขโมยจึงชุม
ผู้มีปัญญาจงเรียนรู้เรื่องความรัก เพราะการรู้เข้าใจธรรมชาติของตนคือทางเดียวที่นำไปสู่ความ สงบสุขที่มนุษย์เราพึงประสงค์
พระพุทธเจ้าสอนเรา ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมเป็นปัญหากับผู้ไม่รู้ เท่าทัน ย่อมไม่เป็นปัญหากับผู้ที่รู้เท่าทัน
ความรักก็เหมือนกัน เมื่อเริ่มเจริญปัญญา รู้เท่าทันความ รักในระดับหนึ่ง แล้ว ก็ค่อยละสิ่งเศร้าหมอง บำเพ็ญธรรมฝ่ายเบิกบาน เพื่อความรักจะไร้โทษ และเป็นพลังในการนำชีวิตขึ้นไปสู่ความสุขที่แท้จริง
ในการเรียนรู้เรื่องความรัก คำถามที่ควรสนใจ จึงมีหลายข้อด้วยกัน เช่น ความรักคืออะไร ความรักมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ความรักเกิดขึ้นอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร เสื่อมและดับไปอย่างไร อะไรคือมลทินของความรัก อะไรคือเครื่องรักษาและเครื่องชำระความรัก เราควรจะปฏิบัติต่อความรักอย่างไร จึงจะได้ความสุขมากที่สุดและความทุกข์น้อยที่สุด
สิ่งท้าทายในเบื้องต้นคือภาษา ความหมายของคำว่า รัก ค่อนข้างจะกำกวม เพราะใช้สำหรับความผูกพันหลายประเภท
บางครั้งเราอุทานออกมาว่ารักสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยหมายความว่าชอบมันมาก เช่น รักว่ายน้ำ รักอาหารทะเล รักภาพยนตร์เรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นต้น
รัก ประเภทนี้อาตมาจะไม่กล่าวถึงต่อไป เพราะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ คำว่ารักในกรณีนี้เป็นแค่สำนวน
ความรักอีกประเภทหนึ่งคือรักสิ่งที่เป็น นามธรรม สิ่งสมมุติ หรืออุดมการณ์ เช่น รักชาติ เป็นต้น ความผูกพันกับอุดมการณ์อาจเข้มข้นถึงขั้นที่พอใจฆ่า หรือตายเพื่อสิ่งนั้น
ความรักแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่เราควรกลั่นกรองด้วยปัญญาให้ดี เพื่อไม่ตก เป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของใครที่เก่งในการปลุกระดม ในเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นว่าฝ่ายเราดี ถูกต้อง บริสุทธิ์ ฝ่ายเขาเลว ผิด พลาด ไม่บริสุทธิ์ เป็นปัญหาแล้ว โรคแบ่งเราแบ่งเขาแบบขาวดำ ดีชั่ว อันตรายเสียแล้ว
เพราะฉะนั้น ใครพูดในทางที่ชวนให้เราเกลียดหรือดูหมิ่นผู้ที่มีแนวความคิดไม่เหมือนเรา คนนั้นไม่ใช่เพื่อนที่ดี เขาเป็น “ปาปมิตร” หรือเพื่อนในทางเสื่อมเสียมากกว่า เราเชื่อและปล่อยให้อารมณ์รุนแรงครอบงำใจก็เป็นบาปอีกคน ผูกพันกับแนวความคิด หรือปรัชญา อะไรแล้ว จงดูแลความถูกต้องด้วยพลังธรรม
ความรักประเภทที่สองเป็นสิ่งที่ควรศึกษา เพราะมีผลต่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคม แต่ที่นี่อาตมาตั้งใจจะเน้นการวิเคราะห์ความรักประเภทที่สาม คือความรักระหว่างบุคคล เช่น รัก พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร สามี ภรรยา ลูก หลาน เป็นต้น และสุดท้าย ความรักที่สี่คือเมตตา
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตในเบื้องต้นว่าความผูกพันในสามข้อแรกย่อมนำความทุกข์มาสู่ชีวิตเราอยู่เสมอ ไม่มากก็น้อย เพราะธรรมชาติของความรัก ธรรมชาติของความเป็นปุถุชน เป็นอย่างนั้นเอง
จบหลักรัก ตอนที่ ๑ ***
ที่มา